ลักษณะของงานบริการวิชาชีพวิศวกรรม

งานบริการวิชาชีพวิศวกรรม  แบ่งได้เป็น 9 ลักษณะ ดังนี้
ลักษณะที่ 1 งานให้คำปรึกษา
ลักษณะที่ 2 งานวางโครงการ
ลักษณะที่ 3 งานคำนวณออกแบบ
ลักษณะที่ 4 งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
ลักษณะที่ 5 งานวิเคราะห์ตรวจสอบและสำรวจ
ลักษณะที่ 6 งานอำนวยการใช้และบำรุงรักษา
ลักษณะที่ 7 งานสำรวจปริมาณงานและราคา
ลักษณะที่ 8 งานจัดการคุณภาพ
ลักษณะที่ 9 งานพิเศษอื่น ๆ

1. งานให้คำปรึกษา

งานลักษณะนี้หมายถึง  งานให้คำปรึกษาและข้อแนะนำ  งานตรวจวินิจฉัย  หรืองานตรวจรับรองงาน  จำแนกเป็นประเภทได้ดังนี้  คือ

  • งานให้คำปรึกษาและข้อแนะนำ งานประเภทนี้หมายถึงงานให้คำปรึกษาและข้อแนะนำในการแก้ปัญหางานวิศวกรรมที่กระทำโดยวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะทาง โดยอาจว่าจ้างให้ทำงานประจำเต็มเวลาหรือไม่เต็มเวลาก็ได้ รวมทั้งการปรากฎตัวต่อศาลหรือคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ความเห็นทางวิศวกรรม
  • งานตรวจวินิจฉัยหรืองานตรวจรับรองงาน งานประเภทนี้หมายถึง  งานตรวจวินิจฉัยงาน  หรืองานตรวจรับรองงานวิศวกรรมที่กระทำโดยวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะทางโดยเป็นการว่าจ้างเฉพาะงาน

2. งานวางโครงการ

งานลักษณะนี้หมายถึง  การศึกษา  การวิเคราะห์หาทางเลือกที่เหมาะสม  หรืองานวางแผนโครงการด้านวิศวกรรม  จำแนกเป็นประเภทได้ดังนี้

  • การศึกษาวางแผนแม่บท (Master Plan) การศึกษาและวางแผนโครงการในขั้นนี้เป็นการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมในการพัฒนาโครงการ การจัดลำดับความสำคัญและความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการ ตลอดจนระยะเวลาในการพัฒนา ซึ่งจะทำให้ผู้ว่าจ้างหรือผู้ลงทุนทราบถึงขั้นตอนพัฒนาโครงการหรือการลงทุนที่เหมาะสมในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ
  • การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) การศึกษาและวางแผนโครงการในขั้นนี้เป็นการดำเนินการในรายละเอียดที่มากขึ้น โดยจะทำการสำรวจและเก็บข้อมูลในส่วนที่เห็นว่าจำเป็นและสำคัญต่อความเป็นไปได้ของโครงการ โดยวิธีที่ไม่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก เพื่อให้ข้อสงสัยต่าง ๆ กระจ่างขึ้น
  • การศึกษาความเหมาะสมโครงการ (Feasibility Study) การศึกษาและวางแผนโครงการในขั้นนี้ เป็นการศึกษาและวางแผนขั้นรายละเอียด เพื่อให้ได้โครงการที่มีความเหมาะสมที่สุด ทั้งทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อกำหนดแผนการดำเนินการด้านต่าง ๆ ให้บรรลุถึงเป้าหมายโครงการ
  • งานศึกษาการบริหารธุรกิจและวิศวกรรมการผลิตงานประเภทนี้หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ การวางแผนงานและระบบงานการผลิต  ความสัมพันธ์ด้านแรงงาน  การศึกษาเกี่ยวกับระยะเวลาและกิจกรรมทำนองเดียวกันนี้

3. งานคำนวณออกแบบ

งานลักษณะนี้หมายถึง การใช้ความรู้ตามหลักวิชาการและความชำนาญในสาขาวิศวกรรม เพื่อให้ได้รายละเอียดในการสร้าง โดยแสดงเป็นแบบรูป ข้อกำหนดและประมาณการ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญดังนี้

3.1 ขั้นศึกษาและออกแบบขั้นต้นเป็นขั้นตอนเมื่อเริ่มโครงการเพื่อวางแผนงานคำนวณออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของโครงการ โดยมีสาระสำคัญของงานดังนี้

  • ร่วมหารือกับผู้ว่าจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาปนิก วิศวกรอื่น และที่ปรึกษาบริหารโครงการ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์และข้อกำหนดความต้องการของโครงการ
  • ดูสถานที่ก่อสร้าง การศึกษาแผนผังที่ดินและแผนงานก่อสร้าง
  • ให้คำแนะนำในงานสำรวจสถานที่
  • เสนอรายงานแนวทางในการคำนวณออกแบบงานวิศวกรรม แบบรูป ข้อกำหนดและ    ประมาณการเบื้องต้น
  • เสนอแนวทางเลือกพร้อมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญและมีความ    จำเป็นที่ต้องให้ผู้ว่าจ้างตัดสินใจ
  • ให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ว่าจ้างจัดทำการศึกษาและวิเคราะห์เพิ่มเติม เช่น แหล่งน้ำ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สภาพดิน การจราจร ซึ่งต้องใช้ผู้ชำนาญการเฉพาะ
  • ให้คำแนะนำในเรื่องผลกระทบจากข้อกำหนดทางกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม

3.2 ขั้นคำนวณออกแบบงานก่อสร้าง งานผลิตและติดตั้ง

เมื่อได้รับเห็นชอบกับรายงานแนวทางในการคำนวณออกแบบงานวิศวกรรม แบบรูป ข้อกำหนดและประมาณการเบื้องต้นและได้รับอนุมติจากผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการต่อในขั้นงานคำนวณออกแบบรายละเอียด จึงดำเนินการดังนี้

  • ประสานงานกับผู้ว่าจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาปนิก วิศวกรอื่น และที่ปรึกษาบริหารโครงการ เพื่อให้งานคำนวณออกแบบสอดคล้องกับความต้องการของโครงการ
  • ดำเนินการคำนวณออกแบบรายละเอียด จัดทำแบบรูป ข้อกำหนดและประมาณราคาในขั้นรายละเอียด
  • จัดพิมพ์แบบรูปและเอกสารที่จำเป็นสำหรับการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง
  • ลงนามรับรองในฐานะผู้ปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมในงานที่ตนดำเนินการและเป็นผู้รับผิดชอบ
  • ตรวจสอบงานคำนวณออกแบบรายละเอียด แบบรูป ข้อกำหนดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ข้อกำหนดทางกฎหมาย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และข้อกำหนดความต้องการของโครงการ
  • จัดเตรียมเอกสารเพื่อการจัดทำบัญชีวัสดุอุปกรณ์และราคาค่าก่อสร้าง
  • จัดเตรียมเอกสารในงานที่รับผิดชอบสำหรับนำไปใช้ในการประกวดราคา

3.3 ขั้นดำเนินการ หมายถึงการให้บริการภายหลังจากที่ได้ส่งมอบงานคำนวณออกแบบรายละเอียดแล้ว ซึ่งประกอบด้วยงานดังนี้

  • งานให้คำปรึกษาในระหว่างการประกวดแบบและคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้าง
  • งานให้คำปรึกษาในระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสอดคล้องกับแบบรูปและข้อกำหนด
  • งานอนุมัติวัสดุอุปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสอดคล้องกับแบบรูปและข้อกำหนด
  • จัดทำแบบรูปหรือรายละเอียดเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อช่วยงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับแบบรูปและข้อกำหนด
  • ตรวจสอบงานก่อสร้างเป็นครั้งคราว
  • ร่วมประชุมในระหว่างการก่อสร้างตามความจำเป็น
  • ให้ความร่วมมือในเรื่องของการประสานงานกับผู้ว่าจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง

4. งานควบคุมการก่อสร้างหรือการผลิต

งานลักษณะนี้หมายถึง การอำนวยการควบคุมหรือการควบคุมการก่อสร้าง  การผลิต  การติดตั้ง  การซ่อม  การดัดแปลง  หรือการรื้อถอนงานในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาชีพวิศวกรรม แบบ รูปและข้อกำหนด  โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้ คือ

4.1 ขั้นก่อนการก่อสร้างและติดตั้ง

  • การจัดการรูปแบบและวางผังโครงสร้างการบริหารโครงการ
  • การช่วยผู้ว่าจ้างตรวจและทบทวนแบบเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและประหยัดในการก่อสร้างและติดตั้ง
  • การร่วมกับผู้ว่าจ้างจัดการประกวดราคา  โดยจัดทำแผนงานสำหรับการประกวด    ราคา  วางระบบการประกวดราคา และจัดทำเอกสารการประกวดราคา
  • การร่วมกับผู้ว่าจ้าง คัดเลือกผู้เข้าประกวดราคา
  • การเข้าร่วมจัดเตรียมและดำเนินการประชุมชี้แจงแบบ ตอบข้อซักถาม และนำเข้าผู้เข้าประกวดราคาตรวจชมสถานที่ก่อสร้าง
  • การจัดทำตารางสรุปและวิเคราะห์ผลข้อเสนอทั้งด้านเทคนิค (ถ้ามี) และข้อเสนอราคา หลังจากรวบรวมข้อมูลและคำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้ประกวดราคาได้ครบถ้วนแล้ว
  • การเสนอแนะข้อมูลและวิธีการต่อรองราคาแก่ผู้ว่าจ้าง
  • การเสนอแนะการตัดสินผลการประกวดราคา และให้ข้อแนะนำในการเซ็นสัญญากับรายหนึ่งรายใด
  • การจัดเตรียมเอกสารประกอบสัญญา และเอกสารสัญญาสำหรับลงนามกับผู้ประกวดราคาที่ได้รับการคัดเลือก
  • การช่วยเหลือผู้ว่าจ้างในการประสานงานและให้ข้อมูลเพื่อการได้มาซึ่งใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

4.2  ขั้นดำเนินการก่อสร้าง การผลิตและการติดตั้ง

  • การตรวจสอบและควบคุมแผนงานก่อสร้างและติดตั้งให้เป็นไปตามสัญญา พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาความล่าช้า
  • การตรวจสอบแบบรายละเอียดและแบบขยาย ตลอดจนแบบสำหรับก่อสร้าง และติดตั้งให้ถูกต้องตามแบบและหลักวิชา
  • การตีความแบบและข้อกำหนดเพื่อใช้ในการก่อสร้าง การผลิตและการติดตั้ง
  • การตรวจสอบและอนุมัติแบบเพื่อก่อสร้าง (Shop Drawing)
  • การตรวจรับรองรายงานผลการทดสอบวัสดุและอุปกรณ์จากห้องปฏิบัติการ จากโรงงานและ/หรือแหล่งผลิต
  • การพิจารณาอนุมัติการใช้วัสดุอุปกรณ์ วิธีการผลิต วิธีการก่อสร้าง และ/หรือวิธีการติดตั้ง
  • การตรวจรับรองวัสดุ ฝีมือและงานให้เป็นไปตามหลักวิชา และเจตนารมณ์ของการคำนวณออกแบบและถูกต้องตามที่ระบุในข้อกำหนดและสัญญา
  • การตรวจรับรองการผลิต - การก่อสร้างและหรือการติดตั้งให้ถูกต้องตามแบบ ข้อกำหนดและหลักวิชา
  • การให้คำแนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และการให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  • การจัดทำระเบียนคุมงานประจำวัน
  • การจัดทำรายงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ และประจำเดือน
  • การพิจารณาและอนุมัติการจ่ายเงินตามงวดงานของสัญญา

4.3  ขั้นควบคุมการผลิต และขบวนการผลิต

  • การควบคุมให้ผู้ประกอบการดำเนินการอย่างปลอดภัยตามหลักวิชาการ
  • การควบคุมให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
  • การควบคุมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

4.4  ขั้นงานก่อสร้างและงานติดตั้งเสร็จสมบูรณ์

  • การออกหนังสือรับรองให้ผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างเมื่องานเสร็จเรียบร้อยตามสัญญา
  • การควบคุมและตรวจสอบให้ผู้รับจ้างจัดทำแบบตามที่สร้างและติดตั้งจริง (As-built Drawings) ของงานที่ทำเสร็จสมบูรณ์ แล้ว
  • การจัดทำข้อแนะนำในการใช้งาน และจัดทำคู่มือสำหรับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนการฝึกบุคลากรของผู้ว่าจ้างให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว
  • การจัดให้มีการทดสอบการใช้งานของอุปกรณ์บางอย่างตามความจำเป็น
  • ตรวจสอบข้อบกพร่อง (Defects) ที่ยังคงค้างก่อนปิดโครงการ
  • การตรวจสอบและสรุปค่าใช้จ่ายสุดท้าย (Final Account) ของโครงการทั้งหมดให้ผู้ว่าจ้าง
  • การจัดทำเอกสารรายงานขั้นสุดท้าย (Final Report) ให้ผู้ว่าจ้าง


4.5 งานวิเคราะห์ตรวจสอบ และสำรวจ

งานลักษณะนี้หมายถึง  การศึกษา  การวิเคราะห์  การตรวจสอบ  การสำรวจ  และการหาข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์  หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัยงานในสาขาวิชาชีพวิศวกรรม  ซึ่งอาจแยกประเภทได้ดังนี้

4.5.1 งานศึกษาและงานวิเคราะห์

  • งานศึกษาและการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การจัดการประชุมกับชุมชนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม  เช่น  กลิ่น  เสียง  ฝุ่น  การมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์  การประชุมหารือ  รวมไปถึงการจัดเตรียมเอกสารเพื่องานดังกล่าว
  • งานวิเคราะห์โครงสร้างหรืองานระบบเพื่อการปรับปรุง

4.5.2 งานตรวจสอบและทดสอบ

  • งานตรวจสอบวัสดุและอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงานทั้งด้านรายละเอียด หรือการตรวจสภาพในห้องปฏิบัติการ  และการทดสอบด้านวิศวกรรมต่างๆ
  • การตรวจสอบหรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการก่อสร้างพิเศษ
  • การตรวจสอบหรือการตรวจงานเป็นกรณีพิเศษ  นอกเหนือจากที่ต้องกระทำในขั้นตอนงานคำนวณออกแบบ  ทั้งนี้ตามแต่จะตกลงกับผู้ว่าจ้าง
  • การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีพิเศษ  หรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ 

4.5.3 งานสำรวจและการหาข้อมูล

  • งานสำรวจเพื่อหาข้อมูล หมายถึง งานเก็บสถิติเพื่อหาข้อมูลสำหรับการคำนวณออกแบบ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับการจราจรและอื่นๆ
  • งานสำรวจทางธรณีวิทยา หมายถึง การเจาะสำรวจชั้นดินต่างๆ เพื่อนำตัวอย่างไปวิเคราะห์และทดสอบในห้องปฏิบัติการ  ทำรายงานและให้คำแนะนำตามความต้องการ
  • งานสำรวจแหล่งน้ำและกำจัดของเสีย หมายถึง งานศึกษา ตรวจสอบ เพื่อหาข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวปฏิบัติในการออกแบบสำหรับการจัดหาน้ำใช้ และการกำจัดของเสีย
  • งานสำรวจโครงสร้างอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้างที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ


4.6 งานอำนวยการใช้และการบำรุงรักษา

งานลักษณะนี้หมายถึง งานอำนวยการใช้ งานดูแลรักษา ทั้งที่เป็นชิ้นงานและระบบงานตามหลักวิชาการและความทักษะในสาขาวิศวกรรม เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องตามที่ได้คำนวณออกแบบไว้อย่างปลอดภัยและมีอายุการใช้งานที่เหมาะสม โดยประกอบด้วยงานดังต่อไปนี้

  • งานวางแผนงานประจำวัน ประจำเดือน ประจำคาบ ประจำปี
  • งานดูแลการทำงานตามแผน
  • งานตรวจสอบและประเมินผลการทำงาน
  • จัดทำรายงานประจำวันและรายงานตามระยะ
  • การปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
  • การดำเนินมาตรการทางด้านความปลอดภัย
  • รายงานอุบัติเหตุ
  • รายงานรับรองการตรวจสอบสภาพอาคาร ระบบและอุปกรณ์
  • รายงานการใช้พลังงาน
  • การจัดทำงบประมาณประจำปี
  • แผนการซ่อมและปรับปรุงอาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ เป็นต้น


4.7 งานสำรวจปริมาณงานและราคา

งานลักษณะนี้หมายถึง  งานให้บริการด้านมูลค่าของโครงการ และการให้ความรู้ด้านโครงสร้างราคา (Cost Structure) แก่ผู้ว่าจ้างโดยทั่วไปจะแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ระดับ ประกอบด้วย ระดับการตั้งงบประมาณ (Budgeting) เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในโครงการ ซึ่งขอบข่ายของการให้บริการอาจรวมไปถึงการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) อีกระดับหนึ่งเป็นระดับการบริหารโครงการ (Project Administration) เป็นระดับของการปฏิบัติการในระหว่างการดำเนินการโครงการ ประกอบด้วยงาน 3 ส่วน ได้แก่ การจัดหาผู้ดำเนินการโครงการ (Procure ment) การควบคุมค่าใช้จ่ายระหว่างการดำเนินการ (Cost Control) และการปิดบัญชีโครงการ (Project Closing and Final Account) หากแบ่งการให้บริการงานสำรวจปริมาณงานและราคาตามระยะเวลาในการดำเนินโครงการสามารถแบ่งได้ดังนี้

4.7.1 ขั้นเริ่มต้นโครงการ

  • การประมาณราคาในเบื้องต้น ให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าก่อสร้างของโครงการและค่าบริหารโครงการหลังจบโครงการแล้ว (Project Running Cost) โดยค่าก่อสร้างของโครงการหมายรวมถึง ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้างจากผู้รับจ้างก่อสร้าง ค่าควบคุมงาน รวมถึงค่าจ้างต่างๆ  ในขณะที่ค่าบริหารโครงการหลังจบโครงการแล้ว เช่น ค่าการตลาด (ในช่วงแรกของโครงการ)  ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าดูแลบำรุงรักษาอาคาร ต้นทุนด้านการเงิน (เช่น ดอกเบี้ย) และค่าใช้จ่ายด้านภาษี
  • การประมาณระยะเวลาก่อสร้างเบื้องต้น
  • การให้ข้อมูลเกี่ยวกับราคาเพื่อพิจารณาเลือกแบบหรือวัสดุก่อสร้างที่จะทำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดต่อโครงการโดยอาจใช้หลักวิเคราะห์ เช่น วิศวกรรมคุณค่า  (Value Engineering)
  • การพิจารณาตัดรายการที่ไม่จำเป็นออกในกรณีเกินงบประมาณ
  • การช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง การว่าจ้าง และการจัดซื้อ
4.7.2 ขั้นการสรรหาผู้รับจ้างและการประกวดราคา
  • การช่วยพิจารณากำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคา
  • การจัดทำบัญชีแสดงปริมาณงาน (Bill of Quantities : BOQ)
  • การช่วยในการจัดทำร่างสัญญาที่เกี่ยวกับการซื้อขายหรือจ้างทำ
  • การช่วยจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา
  • การช่วยชี้แจงและตอบข้อซักถามของผู้เสนอราคา
  • การช่วยสรรหาแหล่งจัดจ้างหรือจัดซื้อ
  • การปรับฐานราคา  ช่วยพิจารณาความพร้อมของผู้รับจ้างในด้านต่างๆ รวมถึงวิธีการก่อสร้าง
  • การช่วยพิจารณาและเจรจาต่อรองข้อเสนอของผู้เสนอราคาและให้คำแนะนำ
  • การสรุปราคาเพื่อการคัดเลือกผู้รับจ้าง แนะนำผู้ว่าจ้างและชี้ข้อเด่นข้อด้อยของผู้รับจ้างแต่ละรายอย่างเป็นกลาง
4.7.3 ขั้นการบริหารการก่อสร้าง
  • การช่วยจัดทำหรือตกลงแผนการจ่ายเงินกับผู้รับจ้าง (Disbursement Schedule)
  • การช่วยทำงบกระแสเงินสด (Cash flow) ของโครงการ
  • การตรวจสอบผลงานแต่ละงวดเพื่อรับรองจำนวนเงินงวดที่ให้ชำระได้
  • การช่วยกำหนดกฎเกณฑ์การคิดราคางานเพิ่มงานลด
  • การวัดและคำนวณปริมาณงานที่เปลี่ยนแปลงและคำนวณเงินเพิ่มลด
  • การช่วยเตรียมแบบฟอร์มต่างๆ เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินผู้รับจ้าง
  • การทำรายงานสถานะทางการเงินของโครงการต่อผู้ว่าจ้างทุกระยะ
4.7.4 ขั้นปิดโครงการ
  • การช่วยตรวจสอบการส่งมอบงานให้ครบถ้วนตามสัญญา
  • การตรวจสอบและรับรองการเบิกเงินงวดสุดท้าย ตามเงื่อนไขของสัญญา
  • การตรวจสอบและรับรองค่างานเปลี่ยนแปลง
  • การทำบัญชีสรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการให้ผู้ว่าจ้าง แยกตามรายชื่อผู้รับจ้าง ผู้ขาย และประเภทงาน
  • การช่วยสรุปการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างต่อผู้ว่าจ้าง
  • การให้ข้อมูลและเงื่อนไขที่สำคัญในการจัดทำประกันภัย

4.8 งานจัดการคุณภาพ

การจัดการคุณภาพจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพงานตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ระหว่างการดำเนินงานของกระบวนการนั้น จนถึงการตรวจสอบคุณภาพในขั้นสุดท้ายเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพในทุกๆ ช่วงของกระบวนการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเป็นการประกันในคุณภาพของสินค้า ผลผลิต บริการ หรือชิ้นงานที่ได้ขอบเขตงานหลักในการจัดการคุณภาพครอบคลุมถึง การกำหนดและจัดเตรียมเอกสารการตรวจคุณภาพ  การวางแผนการตรวจคุณภาพ  การดำเนินการตรวจคุณภาพ  และปรับปรุงแก้ไขคุณภาพงานให้เป็นตามที่ต้องการ

4.9 งานพิเศษอื่นๆ

งานลักษณะนี้ หมายถึง งานนอกเหนือจาก 8 ลักษณะงานดังกล่าวข้างต้น  ซึ่งอาจหมายรวมถึงงานดังต่อไปนี้

  • การให้บริการในต่างจัดหวัด ต่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษ
  • การขออนุญาตต่างๆ ต่อหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด
  • การตระเตรียมข้อมูลและเอกสารเพื่อการอุทธรณ์ หรือการพิจารณาพิเศษเกี่ยวกับการขออนุญาต
  • การจัดทำหุ่นจำลอง
  • การปรับเปลี่ยนแบบเนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
  • งานแก้ไขความชำรุดหรืองานดัดแปลง
  • งานพิเศษอื่นๆ